มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ตามนโยบายของรัฐบาลและความต้องการของประชาชนในภาคเหนือที่จะขยายโอกาสการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้กระจายออกสู่ท้องถิ่น โดยได้รับอนุมัติให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2503 และเริ่มเปิดทำการเรียนการสอนในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2507 และเพื่อตอบสนองต่อความต้องการบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมในการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพแก่ประชาชนในท้องถิ่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จึงได้มีโครงการจัดตั้งภาควิชาเทคนิคการแพทย์ขึ้น ในปี พ.ศ. 2509 และได้รับอนุมัติให้เป็นภาควิชาเมื่อปี พ.ศ. 2510 ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 คณะแพทยศาสตร์ได้เห็นชอบให้ภาควิชาเทคนิคการแพทย์จัดทำโครงการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ เพื่อรับผิดชอบผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพออกไปรองรับงานในเขตภาคเหนือ ซึ่งได้รับอนุมัติให้เป็นคณะเทคนิคการแพทย์ในปี พ.ศ. 2519

ลำดับช่วงเวลาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับคณะเทคนิคการแพทย์ โดยสังเขปมีดังนี้ :

พ.ศ. 2507 สถาปนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พ.ศ. 2509 เป็นโครงการจัดตั้งภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พ.ศ. 2510 เป็นภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พ.ศ. 2512 เป็นโครงการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พ.ศ. 2519 เป็นคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยแบ่งส่วนราชการเป็น สำนักงานเลขานุการคณะฯ ภาควิชาเคมีคลินิก ภาควิชาจุลชีววิทยาคลินิก ภาควิชาภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก และภาควิชาคลินิคัลไมโครสโคปี้ (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ภาควิชาจุลทรรศนศาสตร์คลินิก) ทบวงมหาวิทยาลัยอนุมัติให้จัดตั้งภาควิชารังสีเทคนิค ในปีพ.ศ. 2521 ภาควิชากิจกรรมบำบัด พ.ศ. 2523 ภาควิชากายภาพบำบัด ในปี พ.ศ. 2532

พ.ศ. 2546 สภามหาวิทยาลัยได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการในภาควิชา และเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร โดยให้มีการหลอมรวมภาควิชา เพื่อก่อให้เกิดความคล่องตัว เกิดคุณภาพในการบริหารองค์กร และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด นำไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ ตามประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง ภาระงานของภาควิชาและหัวหน้าภาควิชาที่พึงประสงค์ และแนวทางการบริหารจัดการในภาควิชาและคณะ ลงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2545

เพื่อตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัย คณะฯ จึงได้ดำเนินการศึกษารูปแบบ วิธีการที่เหมาะสมในการปรับโครงสร้างของภาควิชาในคณะเทคนิคการแพทย์ และจากการระดมความคิดเห็นของบุคลากรทั้งคณะ มีความเห็นว่ารูปแบบที่เหมาะสมสำหรับคณะเทคนิคการแพทย์ คือการมีหนึ่งภาควิชาต่อการผลิตบัณฑิตในแต่ละสาขาวิชา จึงได้ดำเนินการหลอมรวมภาควิชาในสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ จากภาควิชาเคมีคลินิก ภาควิชาจุลชีววิทยาคลินิก ภาควิชาจุลทรรศนศาสตร์คลินิก และภาควิชาภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก เป็นภาควิชาเทคนิคการแพทย์

ปัจจุบัน คณะเทคนิคการแพทย์แบ่งส่วนราชการเป็น สำนักงานเลขานุการ ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ ภาควิชารังสีเทคนิค ภาควิชากิจกรรมบำบัด และภาควิชากายภาพบำบัด เปิดการเรียนการสอนมีทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ดังนี้

เปิดสอนระดับปริญญาตรี (วิทยาศาสตรบัณฑิต)

4 สาขาวิชา คือ

สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์

สาขาวิชารังสีเทคนิค (แผน1)และ (แผน2)หลักสูตรต่อเนื่อง

สาขาวิชากิจกรรมบำบัด

สาขาวิชากายภาพบำบัด

เปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษา

6 หลักสูตร คือ

ระดับปริญญาโท สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์

ระดับปริญญาโท สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและการออกกำลังกาย

ระดับปริญญาโท สาขาวิชาวิทยาศาสตร์รังสีการแพทย์

ระดับปริญญาโท สาขาวิชากิจกรรมบำบัด

ระดับปริญญาโท สาขาวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย

ระดับปริญญาเอก สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์