กลุ่มวิจัยโรคติดเชื้อและภูมิคุ้มกัน คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา เลิศมีมงคลชัย จัดกิจกรรมการบรรยายพิเศษและสัมมนากลุ่มวิจัยขึ้น ระหว่างวันที่ 9-10 มิถุนายน 2565 มีการจัดกิจกรรมการบรรยายพิเศษทางคลินิกของกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมโลก (climate change) ทางออนไลน์  โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพ.ชัยสิริ อังกุระวรานนท์ หัวหน้าหน่วยวิจัย ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรยายเรื่อง โรคไม่ติดเชื้อเรื้อรังโดยเฉพาะเบาหวาน รองศาสตราจารย์ ดร.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่าย Easy asthma and COPD clinic คลินิกระบบทางเดินหายใจ ศูนย์บริการทางการแพทย์ชั้นเลิศ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บรรยายเรื่อง คลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พ.อธิบดี มีสิงห์ สาขาวิชาโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บรรยายทางด้านเชื้อแบคทีเรียดื้อยาและแนวทางการรักษา และ อาจารย์ ดร.พญ.สุวัชรีพร โรจน์ชีวพันธ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายทางด้านเทคนิคการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อมัยโคแบคทีเรีย ซึ่งมีนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา รวมถึงคณาจารย์ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังเพื่อแลกเปลี่ยนเปลี่ยนประเด็นต่างๆ ร่วมกันกว่า 40 ท่าน


และในวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ได้จัดการประชุมนำเสนอความก้าวหน้าและแนวทางการวิจัยกลุ่มวิจัยฯ ณ Gardenzenment Co-working Space เชียงใหม่ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา เลิศมีมงคลชัย และดร.วิไลวรรณ เพชรโสภณสกุล เป็นอาจารย์พี่เลี้ยง และ อาจารย์ ดร.ชิดชไม คิวเจริญวงษ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษานำทีมนักวิจัยผู้ช่วยและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ออาจารย์ ดร. อานันต์ นิธิชานน อาจารย์ที่ปรึกษานำทีมจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยนักวิจัยผู้ช่วยและนักศึกษาในกลุ่มวิจัย นำเสนอโครงร่างและผลงาน รวมถึงได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีในการพัฒนาศักยภาพและสร้างเสริมบรรยากาศทางงานวิจัย เพื่อสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความพร้อมและความสามารถในการทำงานเป็นทีมในอนาคต รวมทั้งเป็นการเตรียมพร้อมด้านเนื้อหาและแนวทางสำหรับนำเสนอในการประชุมร่วมกับนักวิจัยนานาชาติในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี