สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ 

     เป็นสาขาวิชาชีพที่ผลิตบุคลากร เรียกว่า “ นักเทคนิคการแพทย์ ” ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจวินิจฉัยโรคจากสิ่งส่งตรวจด้วยวิธีการ ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้ประกอบในการวินิจฉัย รักษา และติดตามโรคของผู้ป่วย ติดตามผลการรักษาของแพทย์และพิสูจน์ทางนิติเวชศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และยังทำหน้าที่เป็นนักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ดังนั้น หลักสูตรนี้จึงมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการตรวจทาง ห้องปฏิบัติการและงานวิจัย โดยเน้นให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอย่างเคร่งครัด เป็นผู้ใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ และเป็นผู้ที่สามารถทำงานร่วมกับวิชาชีพอื่นได้เป็นอย่างดี รวมถึงการนำความรู้ไปใช้ในการดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชน  อ่านต่อ ....

จบแล้วทำงานอะไร ??

ปฏิบัติงานในห้องปฎิบัติการชันสูตร และงานะนาคารเลือดของโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วย
 
วินิจฉัย ติดตามอาการ และติดตามผลการรักโรค หรือทำหน้าที่ในห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพในโรงงานผลิตเครื่องอุปโภคบริโภค เช่น โรงงานผลิตนม และผลิตภัณฑ์จากนม โรงงานผลิตเครื่องสำอาง เป็นต้น

 

สาขาวิชากิจกรรมบำบัด
     เป็นวิชาชีพทางการแพทย์สาขาหนึ่ง ผลิต “นักกิจกรรมบำบัด ” ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน บำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้พิการเด็ก ผู้พิการผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่ปัญหาด้านพัฒนาการ การรับรู้ เรียนรู้การทำงานของระบบประสาทและการเคลื่อนไหว จิตสังคม ความคิด ความจำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกิจกรรมในแต่ละวันตามบทบาทของบุคคล เช่น การทำกิจวัตรประจำวัน การเล่น การเรียน การทำงาน เป็นต้น ด้วยวิธีการทางกิจกรรมบำบัด เช่น การเร่งพัฒนาการ การกระตุ้น การดูดกลืน การรับรู้ การปรับพฤติกรรม การฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของกล้ามเนื้อ การทำอุปกรณ์ช่วยผู้พิการ การจัดกิจกรรมแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม การบูรณาการประสาท รับความรู้สึกโดยอาศัยกระบวนการทางกิจกรรมบำบัด อันประกอบด้วยกรตรวจประเมิน วิเคราะห์ปัญหา วางแผนและให้การรักษา รวมทั้งติดตามและประเมินผล สามารถให้บริการกับผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่วัยทารกจนถึงวัยสูงอายุ เช่น ทารกที่คลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีพัฒนาการช้า เด็กที่มีปัญหาด้านการเรียน เด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีปัญหาด้านอารมณ์

จิตสังคม ความคิด ความจำ ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการดูดกลืน ผู้ป่วยทางกระดูกและข้อ ผู้ป่วยทางระบบประสาท และผู้ป่วยที่มีปัญหาในการดูแลตนเองในการทำกิจวัตรประจำวัน  อ่านต่อ ....

จบแล้วทำงานอะไร ??

สามารถปฏิบัติงานทั้งในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนโรงพยาบาลทางจิตเวช สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการ โรงเรียนการศึกษาพิเศษ สถาบันฝึกพัฒนาการเด็ก สถานดูแลผู้สูงอายุเปิดคลินิกร่วมกับแพทย์ในการบำบัดรักษาผู้พิการทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ สามารถทำงานในบริษัทที่จำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง สามารถศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกได้หลายสาขา ทั้งในและต่างประเทศ

 

สาขาวิชารังสีเทคนิค

     สาขารังสีเทคนิค เป็นสาขาวิชาชีพที่ต้องกระทำต่อมนุษย์โดยใช้รังสีหรือสารกัมมันตรังสีทางการแพทย์ชนิดต่างๆ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค หรือการวิจัย รวมทั้งการป้องกันโรค การส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพ ด้วยวิธีการทางรังสีวิทยา หรือการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางรังสีวิทยา โดยมีเนื้อหาที่บูรณาการความรู้ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ เพื่อนำไปสู่การต่อยอดองค์ความรู้ด้วยศาสตร์และเทคโนยีที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาชีพ  อ่านต่อ ....

จบแล้วทำงานอะไร ??

ปฏิบัติงานในหน่วยรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา หรือเวชศาสตร์นิวเคลียร์ในโรงพยาบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้รังสี
 รังสีเทคนิค

 

สาขาวิชากายภาพบำบัด

     เป็นวิชาชีพทางการแพทย์สาขาหนึ่ง ผลิต “ นักกายภาพบำบัด ” ให้บริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูความผิดปกติหรือความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย ด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด เช่น การออกกำลังการเพื่อการรักษา การดัดดึงข้อต่อรยางค์แขนขาและกระดูกสันหลัง การฝึกเคลื่อนไหว การบำบัดด้วยน้ำ การรักษาด้วยความร้อน ความเย็น และเครื่องมือทางกายภาพบำบัด อาทิ อัตราซาวน์ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า คลื่นสั้น เลเซอร์พลังงานต่ำ เป็นต้น การปฏิบัติงานทางกายภาพบำบัดใช้กระบวนการ อันประกอบด้วย การตรวจประเมิน วิเคราะห์ปัญหา วางแผนและให้การรักษา รวมทั้งการติดตามและประเมินผล งานกายภาพบำบัดให้บริการครอบคลุม ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบประสาท ระบบหายใจและไหลเวียนโลหิต ผู้พิการ ผู้ที่มีปัญหาด้านพัฒนาการล่าช้า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการกีฬา นอกจากนั้นยังเกี่ยวข้องกับงานสุขภาพสตรี การให้บริการด้านสปาเพื่อสุขภาพ และอื่นๆ  อ่านต่อ  ....

จบแล้วทำงานอะไร ??


เมื่อสำเร็จการศึกษา สามารถสมัครเข้าสอบเพื่อขออนุมัติใบอนุญาติประกอบวิชาชีพสาขาวิชากายภาพบำบัด จากสภากายภาพบำบัดจากนั้น

สามารถประกอบวิชาชีพได้ ดังนี้

    1. เป็นนักกายภาพบำบัดทั้งในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน โรงเรียนการศึกษาพิเศษ สถานดูแลผู้สูงอายุ หรือสโมสรที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา

    2. เป็นนักกายภาพบำบัดอิสระ โดยสามารถเปิดคลินิกกายภาพบำบัดได้

    3. เป็นนักกายภาพบำบัดหรือผู้แนะนำ ในสถานดูแลสุขภาพต่างๆ เช่น สปา ศูนย์ออกกำลังกาย

    4. เป็นผู้แทนจำหน่ายอุปกรณ์ทางกายภาพบำบัด และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

    5. ศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อพัฒนาเป็นผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักวิจัย และอาจารย์