ไวรัสตับอักเสบบี: วิธีการใหม่ในการกำจัดการถ่ายทอดเชื้อจากมารดาสู่ทารก

ผลของโครงการวิจัยทางคลินิกเรื่อง “Maternal Antiviral Prophylaxis to Prevent Perinatal Transmission of Hepatitis B Virus in Thailand (iTAP)” ที่ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญในหน่วยวิจัย พี เอช พี ที (PHPT-IRD 174) จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศฝรั่งเศส  (Institut de recherche pour le développement, IRD) ร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วาสนา ศิริรังษี และอาจารย์ ดร.วุฒิชัย คำดวง นักวิจัยจากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแพทย์ตลอดจนทีมดูแลสุขภาพจากโรงพยาบาลของรัฐในเครือข่ายของโครงการ 17 แห่ง ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาและวิจัยผ่านกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency, TICA) ที่มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นคู่ความร่วมมือหลัก ได้เพิ่มความน่าสนใจให้กับการนำวิธีการใหม่ไปใช้ป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากมารดาสู่ทารก ซึ่งผลของการวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับวิธีการใหม่ที่ดำเนินการในประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยทั้งชาวไทย ฝรั่งเศส อเมริกัน และยุโรปนี้ ได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (New England Journal of Medicine) ซึ่งเป็นวารสารวิชาการนานาชาติที่มีค่า impact factor สูงถึงกว่า 72.406 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2561 

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกได้ระบุว่าไวรัสตับอักเสบบีส่งผลกระทบต่อประชากรจำนวน 257 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการป่วยแบบเฉียบพลันเมื่อติดเชื้อในวัยผู้ใหญ่ ในทวีปเอเชีย การติดเชื้อส่วนใหญ่มักพบตั้งแต่วัยทารกที่ต่อมากลายเป็นการติดเชื้อแบบเรื้อรัง วิธีการถ่ายทอดเชื้อที่พบบ่อยมากที่สุดคือการสัมผัสกับเลือดหรือของเหลวจากร่างกายที่มีเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างคลอด ทั้งนี้การรักษาสามารถลดความเสี่ยงของการพัฒนาไปเป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับ ในปี 2558 พบว่ามีประชากรเสียชีวิตจากการติดเชื้อนี้จำนวน 887,000 คนทั่วโลก

ในทวีปเอเชีย การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรังส่งผลกระทบต่อประชากรมากกว่า 100 ล้านคน และเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญ โดยทั่วไปทารกที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเมื่อแรกเกิดหรือในช่วงวัยทารกตอนต้นมักจะกลายเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับในวัยผู้ใหญ่

ในประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ใหญ่มากกว่า 2 ล้านคนที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ ซึ่งมากกว่าผู้ที่ติดเชื้อเอช ไอ วี ประมาณ 5 เท่า องค์การอนามัยโลกยอมรับว่าประเทศไทยได้กำจัดการถ่ายทอดเชื้อเอช ไอ วีและซิฟิลิสจากมารดาสู่ทารกได้แล้ว ดังนั้นการกำจัดการถ่ายทอดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากมารดาสู่ทารกจึงมีความเป็นไปได้ด้วยเช่นกัน

วิธีการที่ปลอดภัย

ในโครงการวิจัยนี้ คณะผู้วิจัยจากนานาชาติที่นำโดย Gonzague Jourdain นักระบาดวิทยาทางการแพทย์ของสถาบัน IRD ร่วมกับนักวิจัยทั้งชาวไทย อเมริกัน และยุโรป ได้ค้นหาการประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของวิธีการใหม่เพื่อใช้ป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในมารดาที่มีความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อสูงเนื่องจากมีปริมาณเชื้อไวรัสในร่างกายสูงมาก ซึ่งมารดาเหล่านี้อาจถ่ายทอดเชื้อไวรัสไปยังบุตรของตนเอง ถึงแม้ว่าทารกแรกเกิดจะได้รับการฉีดวัคซีนและอิมมิวโนโกลบูลินแล้วก็ตาม

คณะผู้วิจัยได้เสริมวิธีป้องกันเพิ่มเติมจากวิธีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (โดยการฉีดวัคซีนและอิมมิวโนโกลบูลิน) โดยการให้ยาต้านไวรัสแก่มารดา (ยาทีโนโฟเวียร์ ไดโซพรอกซิล ฟูมาเรต หรือทีดีเอฟ) โดยให้รับประทานวันละครั้งนับจากเริ่มต้นไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์จนถึง 2 เดือนหลังคลอด โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัย 2 ประการคือ เพื่อลดจำนวนทารกที่ติดเชื้อเมื่อคลอดให้ได้มากที่สุดและเพื่อตรวจสอบว่ามารดาสามารถทนต่อยาที่ใช้ในการรักษาได้

หญิงตั้งครรภ์จำนวน 331 รายได้เข้าร่วมในโครงการวิจัยนี้ โดยการสุ่มตัวอย่างหญิงตั้งครรภ์เป็น 2 กลุ่ม: กลุ่มที่ 1 ได้รับยาทีโนโฟเวียร์  ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งได้รับยาไร้ฤทธิ์ที่มีลักษณะเหมือนกัน ผลการวิจัยพบว่าไม่มีทารกติดเชื้อเลยในกลุ่มที่มารดาได้รับยาทีโนโฟเวียร์โดยที่มารดาทนต่อการรักษาได้ดีมาก สำหรับกลุ่มที่มารดาได้รับยาไร้ฤทธิ์พบว่ามีทารกเพียงร้อยละ 2 ที่ติดเชื้อ ในขณะที่การศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้ได้รายงานอัตราการถ่ายทอดเชื้อที่สูงกว่านี้

การมุ่งสู่การกำจัดการถ่ายทอดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากมารดาสู่ทารกในประเทศไทยได้อย่างไร?

นพ. สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แสดงข้อคิดเห็นว่า  ผลการวิจัยนี้ “แสดงให้เห็นว่าประเด็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถจัดการได้ด้วยการทำวิจัยที่มีคุณภาพสูงในประเทศไทย ผลจากการวิจัยเหล่านี้นำมาซึ่งความหวังในการกำจัดความเสี่ยงของมารดาที่จะถ่ายทอดเชื้อไวรัสนี้ไปยังบุตรของตนเองได้”

 

บทความรายงานการวิจัย:

Jourdain G, Ngo-Giang-Huong N, Harrison L, Decker L, Khamduang W, Tierney C, Salvadori N, Cressey TR, Sirirungsi W, Achalapong J, Yuthavisuthi P, Kanjanavikai P, Na Ayudhaya OP, Siriwachirachai T, Prommas S, Sabsanong P, Limtrakul A, Varadisai S, Putiyanun C, Suriyachai P, Liampongsabuddhi P, Sangsawang S, Matanasarawut W, Buranabanjasatean S, Puernngooluerm P, Bowonwatanuwong C, Puthanakit T, Klinbuayaem V, Thongsawat S, Thanprasertsuk S, Siberry GK, Watts DH, Chakhtoura N, Murphy TV, Nelson NP, Chung RT, Pol S, Chotivanich N. Tenofovir versus placebo to prevent perinatal transmission of hepatitis B. N Engl J Med. 2018 Mar 8;378(10):911-923. doi: 10.1056/NEJMoa1708131. PubMed PMID: 29514030.